ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) แบ่งออกเป็นชนิดเฉียบพลัน (มีอาการน้อยกว่า 30 วัน) ชนิดกึ่งเฉียบพลัน (มีอาการอยู่ระหว่าง 30-90 วัน) และชนิดเรื้อรัง (มีอาการมากกว่า 90 วัน) โดยการอักเสบอาจเกิดกับไซนัสได้ทุกตำแหน่ง ได้แก่ ไซนัสข้างตา (Ethmoid sinus), ไซนัสหน้าผาก (Frontal sinus), ไซนัสโหนกแก้ม (Maxillary sinus) และไซนัสที่อยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะ(Sphenoidal sinus) แต่ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ไซนัสโหนกแก้ม (Maxillary sinus) ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดที่บริเวณโหนกแก้ม
ไซนัสอักเสบไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคเฉพาะตัวส่วนบุคคลที่สามารถพบได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศชื้น และพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยพบได้ประมาณ 3-5% ของผู้ป่วยที่มาตรวจที่คลินิกหู คอ จมูก ส่วนใหญ่มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กซึ่งมีโอกาสเป็นหวัดได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis), โรคเยื่อจมูกอักเสบ (Purulent rhinitis), ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps), ผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated nasal septum), รากฟันเป็นหนอง เป็นต้น และผู้ป่วยอาจมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหืด ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
โดยทั่วไปมากกว่า 0.5% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคหวัดจะมีโอกาสเกิดไซนัสอักเสบตามมา ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) หรือโรคหืดจะมีไซนัสอักเสบร่วมด้วยประมาณ 40-50%
สาเหตุของไซนัสอักเสบ
- ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute sinusitis) มักเป็นโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนและโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (หวัดภูมิแพ้) โดยเชื้อที่ทำให้ไซนัสอักเสบอาจเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคหวัด (ทำให้มีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล นานกว่า 7-10 วัน และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่) เชื้อแบคทีเรีย (ส่วนใหญ่ ได้แก่ สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) และฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) และส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อรา เช่น แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ซึ่งถ้าพบในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยเอดส์มักมีอันตรายร้ายแรง สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่พบได้ คือ
- โรคหวัดเรื้อรัง ทำให้เยื่อบุจมูกบวม รูเปิดไซนัสอุดตัน จึงทำให้เกิดการอักเสบของไซนัสได้
- โรคภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้จะมีอาการคันในจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล ทำให้ต้องขยี้จมูกและสั่งน้ำมูกอยู่บ่อย ๆ ส่งผลให้เยื่อบุจมูกบวม รูเปิดไซนัสอุดตัน จึงทำให้ไซนัสอักเสบได้ง่ายขึ้น
- การติดเชื้อของฟัน โดยเฉพาะฟันกรามน้อยและฟันกรามด้านบน โดยทั่วไปพบว่าประมาณ 10% ของการอักเสบของไซนัสที่โหนกแก้มจะมีสาเหตุมาจากฟันผุ เพราะผนังด้านล่างของไซนัสบริเวณนี้จะติดกับรากฟัน บางรายจะแสดงอาการชัดเจนภายหลังที่ไปถอนฟันมาแล้วเกิดรูทะลุระหว่างไซนัสโหนกแก้มและเหงือกขึ้น (Oroantral Fistula)
- โรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคไอกรน โรคหัด
- เป็นผู้ที่ชอบใช้ยาพ่นจมูกโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาพ่นจมูกบางตัวจะทำให้เกิดภาวะติดยาและเยื่อจมูกบวมเรื้อรังได้ และยังทำให้ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลงอีกด้วย
- มีความผิดปกติของโพรงหลังจมูก เช่น เป็นริดสีดวงจมูก, เนื้องอกในจมูก, ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก (เช่น ลูกปัด เม็ดถั่วเขียว เมล็ดผลไม้ต่าง ๆ ฯลฯ) ซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็ก ในผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะมีการอุดตันของรูเปิดไซนัสได้ง่ายเช่นกัน
- การสูบบุหรี่จัดหรือการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น การอยู่ในชุมชนแออัด อยู่ในย่านโรงงาน การได้รับมลพิษทางอากาศ เพราะจะมีผลทำให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง จึงมีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้มากขึ้น
- การว่ายน้ำบ่อย ๆ หรือดำน้ำลึก ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการสำลักน้ำเข้าไปในจมูกและไซนัสได้ และอาจมีเชื้อโรคเข้าไปด้วยจนทำให้เกิดการอักเสบได้ นอกจากนี้ สารคลอรีน (Chlorine) ในสระว่ายน้ำ ยังเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุไซนัสได้ด้วยเช่นกัน
- การกระทบกระแทกที่บริเวณใบหน้าอย่างแรง เพราะอาจทำให้ไซนัสโพรงใดโพรงหนึ่งแตกหัก ช้ำบวม หรือมีเลือดออกภายในโพรง ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมา
- การเปลี่ยนแปลงความดันอากาศรอบ ๆ ตัวแบบทันที (Barotrauma หรือ Aerosinusitis) เช่น ในขณะที่เครื่องบินขึ้นหรือลงจอด หรือจากการดำน้ำลึก เป็นต้น ถ้ารูเปิดของไซนัสในขณะนั้นบวมอยู่ เช่น กำลังเป็นหวัด หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้กำเริบ ก็จะส่งผลให้เยื่อบุบวมมากขึ้น รวมทั้งอาจมีการหลั่งสิ่งคัดหลั่งออกมาหรือมีเลือดออกได้ และก่อให้การอักเสบขึ้นได้ ซึ่งพบบ่อยที่ไซนัสหน้าผาก
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic sinusitis) ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน (Anaerobic bacteria), สแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus), ฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae), เคลบเซลลา นิวโมเนียอี (Klebsiella pneumoniae), กลุ่มแบคทีเรียแกรมลบ (Gram-negative bacteria) และบางครั้งอาจมีการติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อรา เช่น แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ที่มักทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังอันเนื่องมาจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อเชื้อรา (Allergic fungal sinusitis) ซึ่งพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรงเป็นปกติ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังนี้มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบเรื้อรัง ได้แก่
- การไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพียงพอในขณะที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันดังที่กล่าวมา ซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยเองที่ขาดการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
- การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนซ้ำซาก
- การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น การอยู่ในชุมชนแออัด อยู่ในย่านโรงงาน การได้รับมลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ รวมถึงการสูบบุหรี่จัด
- การมีโรคหรือภาวะที่ทำให้มีการอุดตันของรูเปิดของไซนัส ได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) ทำให้เยื่อบุจมูกบวม, โรคริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps), เนื้องอกในโพรงจมูกหรือไซนัส, ผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated nasal septum), มีเดือยหรือกระดูกงอกที่ผนังกั้นช่องจมูก (Septal spur), ผนังด้านข้างของโพรงจมูกโค้งงอผิดรูป (Paradoxical turbinate), การมีเซลล์ผิดปกติขนาดใหญ่ในผนังด้านข้างของจมูก เรียกว่า เซลล์อากาศ (Air cell) ทำให้ผนังดังกล่าวมีขนาดใหญ่ขึ้นมากจนก่อให้เกิดการอุดตันรูเปิดของโพรงอากาศ, ต่อมอะดีนอยด์โตหรือมีสิ่งแปลกปลอมในจมูกเด็กเป็นเวลานาน ๆ เช่น ลูกปัด เม็ดถั่วเขียว เมล็ดผลไม้ต่าง ๆ, เป็นผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจหรือใส่สายให้อาหารทางจมูกอยู่เป็นเวลานาน
- การมีโรคหรือภาวะที่ทำให้ขนอ่อน (Cilia) ที่คอยโบกพัดเพื่อระบายสิ่งคัดหลั่งออกข้างนอกเสียไป จึงเกิดการสะสมของสิ่งคัดหลั่งในไซนัส ก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ เช่น ในภาวะหลังเป็นโรคหวัด
- เป็นโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal reflux – LPR)
- เป็นโรคทางทันตกรรมเรื้อรัง
- มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำหรือลดลง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้มีภาวะโลหิตจาง ขาดสารอาหาร มีอารมณ์แปรปรวน มีความเครียดสูง เป็นต้น
- มีปัจจัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการบวมของเยื่อบุจมูก เยื่อบุไซนัส และรูเปิดไซนัสบวม ทำให้มีสิ่งคัดหลั่งสะสมอยู่ในไซนัสและก่อให้เกิดการติดเชื้อ
อาการของไซนัสอักเสบ
ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่มักมีอาการปวดใบหน้าบริเวณไซนัสที่อักเสบ เช่น ปวดที่บริเวณหัวตา หน้าผาก โหนกแก้ม รอบ ๆ กระบอกตา หลังกระบอกตา บางรายอาจรู้สึกคล้ายปวดฟันตรงซี่บน โดยอาจปวดเพียงข้างเดียวหรือปวดทั้งสองข้างก็ได้ ซึ่งจะเป็นอาการปวดแบบตื้อ ๆ หรือหน่วง ๆ บางครั้งจะมีอาการมึนศีรษะร่วมกับอาการปวด และอาการปวดมักจะเป็นมากขึ้นในช่วงเช้าหรือบ่ายและเวลาก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า ผู้ป่วยมักมีอาการคัดแน่นจมูกอยู่ตลอดเวลา พูดเสียงขึ้นจมูก มีน้ำมูกเป็นหนองออกข้นเหลืองหรือเขียว หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ ทำให้ต้องคอยสูดหรือขากออก และอาจมีไข้ (บางรายอาจมีไข้สูงจนหนาวสั่น ในขณะที่มีไข้สูงก็จะมีอาการปวดศีรษะและปวดบริเวณใบหน้าร่วมด้วย) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไอเรื้อรังเป็นเวลานาน เจ็บคอ ระคายคอ เสียงแหบ ปวดหู หูอื้อ หายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลงในผู้ป่วยเด็กมักมีอาการไม่ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่ แต่มักมีอาการเป็นหวัดนานกว่าปกติ กล่าวคือ มีน้ำมูกใสหรือข้นเป็นหนอง และมีอาการไอนานกว่า 10 วัน มักจะไอทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน อาจมีไข้ต่ำ ๆ และหายใจมีกลิ่นเหม็นร่วมด้วย ในเด็กบางรายอาจแสดงอาการเป็นหวัดรุนแรงกว่าปกติ เช่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส น้ำมูกข้นเป็นหนอง ปวดที่บริเวณใบหน้า หลังตื่นนอนจะสังเกตเห็นอาการบวมรอบ ๆ ตา นอกจากนี้ในเด็กที่มีอาการของหูอักเสบเรื้อรังและหอบหืดก็ควรนึกถึงโรคไซนัสอักเสบไว้ด้วย
ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการต่อเนื่องทุกวันนานเกิน 90 วัน ในผู้ใหญ่มักมีอาการคัดแน่นจมูก มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวไหลจากด้านหลังจมูกลงในคอ หายใจมีกลิ่นเหม็น ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติลดลง แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีไข้และอาการปวดไซนัสแบบที่พบในไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ส่วนในเด็กมักมีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล หายใจมีกลิ่นเหม็น มีโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนหรือหูชั้นกลางอักเสบซ้ำซาก เด็กบางรายอาจมีไซนัสอักเสบเฉียบพลันกำเริบมากกว่าปีละ 6 ครั้ง และแต่ครั้งจะนานกว่า 10 วัน
วิธีป้องกันไซนัสอักเสบ
การดูแลตนเองเพื่อลดโอกาสการเกิดไซนัสอักเสบ หรือลดอาการรุนแรงสามารถทำได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้1.รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำแบบไม่หักโหม (เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค), พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอนหรือนอนดึกบ่อย ๆ (เพราะถ้าร่างกายอ่อนแอจะมีโอกาสติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย), รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน, ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เป็นต้น
2.หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ มลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ และกลิ่นที่ผิดปกติ โดยควรเลือกอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีฝุ่นละออง ไม่มีเกสรดอกไม้ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
3.หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือกระโดดน้ำ เมื่อมีอาการคล้ายหวัดกำเริบ
4.หลีกเลี่ยงภาวะอุณหภูมิแปรเปลี่ยนฉับพลัน เช่น การเข้า ๆ ออก ๆ ห้องปรับอากาศ หรือการอยู่ในรถยนต์ที่ตากแดดร้อน ๆ เป็นต้น
5.ไม่ควรใช้ยาพ่นจมูกโดยไม่ปรึกษาแพทย์
6.ควรได้รับการตรวจโพรงจมูกโดยแพทย์ทางหู คอ จมูก ปีละครั้ง
7.พยายามดูแลตนเองอย่าให้เป็นหวัด เพราะผลจากการเป็นหวัดสามารถทำให้เป็นไซนัสอักเสบได้
8.การป้องกันไซนัสอักเสบไม่ให้เกิดซ้ำอีก สามารถทำได้โดยการพยายามแก้ไขและป้องกันไม่ให้มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมาได้อีก เช่น การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงตามคำแนะนำข้างต้น และถ้ามีการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคหวัด คออักเสบ ฟันผุ ฯลฯ ต้องรีบรักษาให้หายโดยเร็ว หรือถ้าเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นช่องจมูกคด ฯลฯ เหล่านี้ก็ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม เป็นต้น
9.ผู้ที่เป็นหวัด มีน้ำมูกหรือมีเสมหะในคอมีลักษณะข้นเหลืองหรือเขียว เป็นหวัดต่อเนื่องกันทุกวันนานผิดปกติ (เช่น นานเกิน 10 วัน) หรือเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการแสดงของโรคไซนัสอักเสบ
ปรึกษา โทร.093-974-5878
Line : 989shop
เอกสารอ้างอิง1.หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 464-465.
2.หาหมอดอทคอม. “ไซนัสอักเสบ โพรงอากาศข้างจมูกอักเสบ (Sinusitis)”. (นพ.พิชัย พัวเพิ่มพูนศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [11 ส.ค. 2016].
3.สาระน่ารู้ เรื่อง โรคภัยไข้เจ็บ โดยความอนุเคราะห์ของคณะแพทย์ หลักสูตรบริหารงานสายแพทย์ทหารชั้นสูง รุ่นที่ 12 กรมแพทย์ทหารอากาศ. “โรคไซนัส”. (น.อ.ศักดา สุจริตธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : web.ku.ac.th/saranaroo/. [11 ส.ค. 2016]
4.มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 297 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก. “ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) โรคที่บั่นทอน คุณภาพชีวิต”. (นพ.ประพจน์ คล่องสู้ศึก). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [11 ส.ค. 2016].
5.ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “เมื่อเป็นไซนัสอักเสบ”. (รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [12 ส.ค. 2016].
6.ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. “การรักษาไซนัสด้วยบอลลูน (Balloon Sinuplasty)”. (นพ.สมศักดิ์ หวานกิจเจริญ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com. [12 ส.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai
0 Komentar